ปีนี้ผมได้มีโอกาสไปงานทำบุญเดือน ๑๐ ที่วัดอู่ทอง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นวัดในละแวกบ้านผมเอง และได้มีโอกาสไปดูประเพณีชิงเปรต ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญที่เป็นการทำบุญให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว จึงได้นำประเพณีดังกล่าวแบบคร่าวๆมาแนะนำให้เพื่อนๆได้รู้จักกันครับ
“ชิงเปรต” เป็นประเพณีของภาคใต้โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราชที่กระทำกันในวันสารท เดือน ๑๐ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศล ให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับ ซึ่งเชื่อว่าได้รับการปล่อยตัวมาจากนรก โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากนรกในทุก วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ เพื่อมายังโลกมนุษย์ โดยมีจุดประสงค์ในการมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง ที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังภูมินรก ในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐
ช่วงระยะเวลาในการประกอบพิธีกรรมของประเพณีสารทเดือนสิบ จะมีขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำ ถึง วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ของทุกปี แต่จะนิยมทำบุญกันมากคือ วันแรม ๑๓ ถึง ๑๕ ค่ำ
การจัดหฺมฺรับ
เมื่อถึงวันแรม 14 ค่ำเดือนสิบ ซึ่งเรียกกันว่า “วันหลองหฺมฺรับ” แต่ละครอบครัวจะร่วมกันนำข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ มาจัดเป็นหฺมฺรับ เริ่มต้นจะนำกระบุง กระจาด ถาดหรือกะละมังมาเป็นภาชนะ แล้วรองก้นด้วยข้าวสาร ตามด้วยหอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล และเครื่องปรุงอาหารที่จำเป็นอื่น ๆ ต่อไปก็ใส่ของจำพวกอาหารแห้ง เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็มและผักผลไม้ที่เก็บไว้ได้นาน เช่น ฟักเขียว ฟักทอง มะพร้าว ขมิ้น มัน ลางสาด เงาะ ลองกอง กล้วย อ้อย ข้าวโพด ข่า ตะไคร้ ฯลฯ จากนั้นก็ใส่ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ไต้ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันก๊าด ไม้ขีด หม้อ กระทะ ถ้วยชาม เข็ม-ด้ายและเครื่องเชี่ยนหมาก สุดท้ายใส่สิ่งที่สำคัญที่สุดของหฺมฺรับ คือ ขนม 5 อย่าง (บางท่านบอกว่า 6 อย่าง) ได้แก่
-
- ขนมพอง แทนแพสำหรับผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ
- ขนมลา แทนเครื่องนุ่งห่มแพรพรรณ
- ขนมกงหรือขนมไข่ปลา แทนเครื่องประดับ
- ขนมดีซำหรือขนมเจาะรู แทนเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย
- ขนมบ้า แทนสะบ้าใช้เล่นในงานเทศกาลสงกรานต์
- ขนมเทียน มีความหมายใช้แทนหมอน
การยกหฺมฺรับ
ในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งเป็นวันยกหมฺรับ ต่างก็จะนำหมฺรับพร้อมภัตตาหารไปวัด จะร่วมกันถวายภัตตาหารแก่ภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วจะร่วมกัน “ตั้งเปรต” เพื่อแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ในอดีตมักตั้งเปรตบริเวณโคนต้นไม้หรือบริเวณกำแพงวัด แต่ปัจจุบันนิยมตั้งบน “หลาเปรต” หรือร้านเปรต โดยอาหารที่จะตั้งนั้นจะเป็นขนม 5 อย่างหรือ 6 อย่างรวมถึงอาหารอื่น ๆ ที่บรรพชนชื่นชอบ เมื่อตั้งเปรตเสร็จพระสงฆ์จะสวดบังสุกุล โดยจับสายสิญจน์ที่ผูกไว้กับหลาเปรต เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้น ผู้คนจะร่วมกัน “ชิงเปรต” โดยการแย่งชิงอาหารบนหลาเปรต